วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วชช.พังงา สร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข

วชช.พังงา สร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข

ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- เสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2553 10:07:54 น.
             การที่จะทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขได้นั้น คงจะต้องมีการนำปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามามีส่วนประกอบ รวมถึงการศึกษาจากชุมชนอื่น ที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนตนเองได้ เหมือนดังเช่นบ้านหัวสวน อ.คุระบุรี จ.พังงา ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ดังนั้นวิทยาลัยชุมชนพังงา จึงจัดให้มีกิจกรรม "ค่ายเรียนรู้คุณธรรม นำชีวิตพอเพียง" ให้กับนักศึกษาสาขาการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรง และสามารถนำมาประยุกต์ ใช้ ให้เหมาะสมกับบุคคลและท้องถิ่น
            อาจารย์สายันต์ ปานบุตร ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ วชช.พังงา เลือกชุมชนบ้านหัวสวน เนื่องจากชุมชนดังกล่าวเป็นหมู่บ้านต้นแบบของจังหวัด ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง โดยหมู่บ้านมีวิธีการ และวิธีคิดที่ว่าทุกคนในหมู่บ้านมีความสำคัญเท่าเทียมกัน รับฟังความคิดเห็นของคนส่วนน้อย เพื่อนำมาพิจารณาความสำคัญของปัญหาของคนเหล่านั้นก่อน ซึ่งการจัดโครงการนี้ วิทยาลัยฯ นำนักศึกษาจำนวน 30 คน เข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อศึกษาเรียนรู้คุณธรรม จริยธรรม แนวทางการดำเนินชีวิตที่อยู่บนหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันกับปราชญ์ชาวบ้าน
ทั้งนี้ นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้การสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชนบ้านหัวสวนในหลายด้าน โดยนักศึกษาให้ความสนใจใน 3 เรื่อง
          1.ด้านเศรษฐกิจชุมชนแบบพึ่งตนเอง ชาวบ้านหัวสวนได้มีการรวมตัวกันในหมู่บ้านในการทำกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เพื่อการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย กลุ่มผลิตเครื่องแกง ร้านค้าชุมชน และกลุ่มจักสาน โดยเฉพาะเรื่องกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการเกษตร เป็นกิจกรรมการออมเงิน มีการให้บริการด้านสินเชื่อให้แก่สมาชิกของกลุ่ม มีการจัดตั้งร้านค้าชุมชนเพื่อจัดหาของอุปโภคบริโภค วัสดุอุปกรณ์การเกษตร ปุ๋ยเคมี มาจัดจำหน่ายให้แก่สมาชิกในหมู่บ้านและบุคคลทั่วไป
           2.การสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน ควรเริ่มจากการสร้างความสมานฉันท์ในครอบครัวก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันภายในครอบครัว แล้วจึงจะเป็นผลให้เกิดความสมานฉันท์ในชุมชนต่อไป ซึ่งหัวใจสำคัญนั้น คือ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน
           3.ด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชน คือการที่ผู้นำได้ลงไปสัมผัสกับตัวเอง เช่น การพูดคุยแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยไม่ยึดติดกับตัวผู้นำเพียงอย่างเดียว โดยชาวชุมชนบ้านหัวสวน ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างเป็นภูมิคุ้มกัน คือการลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ การออม การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน การเอื้ออาทรต่อกัน
           ทั้งนี้ วชช.พังงา หวังว่าสิ่งที่นักศึกษาจะได้รับจากการออกค่าย ไม่ว่าความรู้ด้านเศรษฐกิจชุมชนแบบพึ่งพาตนเอง เช่น การรวมกลุ่มออมทรัพย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย ร้านค้าชุมชน กลุ่มจักสาน ด้านวิถีประชาธิปไตย การสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน นักศึกษาจะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือใช้กับชุมชนของตนเองได้
            นายณัฐดนัย หวังเกสร (บาว) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการปกครองท้องถิ่น วชช.พังงา กล่าวว่า ตนได้รับความรู้มากมายจากคนในชุมชนบ้านหัวสวน โดยเฉพาะเรื่องการประกอบอาชีพ ซึ่งชาวชุมชนได้แนะนำวิธีการเพาะเห็ดให้กับตน ซึ่งได้นำวิธีการกลับมาใช้ที่บ้าน โดยสร้างโรงเรือนสำหรับการเพาะเห็ดเอง แต่สั่งหัวเชื้อจากชาวชุมชนบ้านสวน ซึ่งเห็ดรุ่นแรกได้ออกผลผลิตแล้ว และได้แจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง และรับประทานเองในครอบครัว รวมทั้งยังได้ปลูกพืชผักสวนครัวไว้ในบริเวณบ้านอีกด้วย การเข้าค่ายฯ เป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งความรู้ที่ได้สามารถนำมา สร้างเป็นอาชีพได้ในอนาคต
             น.ส.ฮาวา ปาโหด (วา) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการปกครองท้องถิ่น วชช.พังงา กล่าวว่า การเข้าค่ายฯ ในครั้งนี้ ทำให้ตนได้ตระหนักว่า เวลาอยู่ในที่ประชุม ความคิดที่แตกต่างนั้น สามารถนำเสนอออกมาได้ เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ ซึ่งอาจส่งให้เกิดผลดีในที่สุด เพราะที่ผ่านมามองว่า หากเราเป็นเสียงส่วนน้อยจะไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ผิดกับที่บ้านหัวสวนที่เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้สิทธิ์ใช้เสียงที่มีอยู่ ซึ่งเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งตนจะไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
             น.ส.ปราณี แซ่เสี้ยว (อ้อ) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการปกครองท้องถิ่น วชช.พังงา กล่าวว่า การมาค่ายในครั้งนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคนในชุมชน คือ การจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เพราะเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง รวมถึงเรื่องการมีผู้นำที่ดี ผู้นำของชุมชนนี้จะเป็นผู้ลงมือทำในทุกกิจกรรม เพื่อให้ลูกบ้านเห็นภาพและจะได้ปฏิบัติตาม ซึ่งในหลายๆ ชุมชนควรนำไปเป็นแบบอย่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น